Saturday, May 28, 2011

จำนวนรูปสระ

สืบเนื่องจากมีคำถามว่า รูปสระ และเสียงสระ มีกี่รูป กี่เสียง เพราะในตำราบางเล่ม ก็ยังเป็นข้อมูลเดิม จึงขอแจงตามการรับรู้จาก การสืบค้น และได้พูดคุยมาดังนี้

1) ประเด็นจำนวนรูปสระ
           ส่วนใหญ่จะเคยเรียนกันมาว่า สระของภาษาไทยมีรูปสระจำนวน 21 รูป  พิจารณาให้ดีและคำนึงถึงข้อเท็จจริงตามความรับรู้ของผู้เรียนภาษาไทย จะพบว่า รูปสระในภาษาไทยมีจำนวนมากถึง 37 รูป
ตามตำราหลักภาษาไทยดั้งเดิม อธิบายว่า สระในภาษาไทยมี 21 รูป เช่น วิสรรชนีย์ ลากข้าง พินทุ์อิ ฝนทอง ฟันหนู ฯลฯ วิธีพิจารณาจำนวนรูปสระแบบเดิมนี้ สร้างความยุ่งยากและไม่สอดคล้องกับการรับรู้ของผู้เรียน เช่น อธิบายว่า รูปสระเอีย (เ -ี ย) เป็นรูปสระ 4 รูปประกอบกัน คือ 1. ไม้หน้า (เ-) 2. พินธุ์อิ ( -ิ ) 3. ฝนทอง ( -่ ) 4. ตัว -ย คำอธิบายเช่นนี้นับว่ายุ่งยาก
ควรสังเกตว่า เมื่อเรียนคำว่า เสีย ก็เรียนกันแต่เพียงว่า ส เสือ ประสมกับสระ เ -ี ย ไม่ใช่ ส เสือ ประสมกับ ไม้หน้า (เ-) พินธุ์อิ ( -ิ ) ฝนทอง ( -่ ) ตัว -ย
คณะผู้จัดทำหนังสืออุเทศภาษาไทยเห็นความยุ่งยากดังกล่าว จึงพิจารณาตามจริงว่า เ -ี ย เป็นรูปสระเพียงรูปเดียว แทนเสียงสระเอีย แตกต่างกับรูป เ- ซึ่งแทนเสียงสระเอ แตกต่างกับรูป -ี ซึ่งแทนเสียงสระอี และแตกต่างกับรูปสระอืที่ไม่มีตัวสะกด คือ สระอืแบบมีตัว อ เคียง ( -ือ ) เช่นคำว่า คือ ลือ มือ และรูปสระอืที่ไม่มีตัวสะกด คือ สระอือแบบไม่มี อ เคียง ( -ือ ) เช่นคำว่า คืบ ลืม มืด รวมทั้งแตกต่างกับรูปสระอื่นๆ อีกหลายรูป
หากพิจารณาว่า เ -ี ย เป็นรูปสระที่ 1 แทนเสียงสระ เอีย

เ- เป็นรูปสระที่ 2 แทนเสียงสระ เอ

-ี เป็นรูปสระที่ 3 แทนเสียงสระ อี

-ือ เป็นรูปสระที่ 4 แทนเสียงสระ อื แบบไม่มีตัวสะกด

-ื เป็นรูปสระที่ 5 แทนเสียงสระ อื แบบมีตัวสะกด
และเมื่อใช้วิธีแบบเดียวกันนี้นับไปเรื่อยๆ จะพบข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สระในภาษาไทยมีรูปที่แตกต่างกันจำนวน 37 รูป ที่สำคัญหนังสืออุเทศภาษาไทย เล่ม 1 มีเจตนาเพียงแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงนี้ มิได้มีเจตนาให้ครูสอนให้นักเรียนท่องจำว่า รูปสระในภาษาไทยมี 37 รูป และทั้ง 37 รูปมีอะไรบ้าง

2) ประเด็นเสียงสระเอียะ-สระเอีย, สระเอือะ-สระเอือ, สระอัวะ-สระอัว
ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่หนังสืออุเทศภาษาไทยนำเสนอ แต่เป็นประเด็นที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอครั้งแรกในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ที่ 6 นานเกือบ 30 ปีมาแล้ว ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชุด ภาษาพิจารณ์ เล่ม 1 ท 605 ซึ่งใช้มาตั้งแต่หลักสูตรปี พ.ศ. 2524 คณะกรรมการที่จัดทำหนังสือแบบเรียนชุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นคณะกรรมการจัดทำหนังสืออุเทศภาษาไทย แต่นักวิชาการทั้ง 2 กลุ่มต่างก็เห็นสอดคล้องกันว่า อาจนับว่าภาษาไทยมีเสียงสระเพียง 21 เสียงได้ ไม่นับเสียงสระเอียะ สระเอือะ และสระอัวะ แม้นักเรียนที่เริ่มเรียนภาษาไทยเป็นครั้งแรกจะท่องจำกันมาว่า สระเอียะ-สระเอีย, สระเอือะ-สระเอือ, สระอัวะ-สระอัว เป็นสระที่แตกต่างกัน 6 สระก็ตาม
              เหตุผลที่พิจารณาให้สระประสมในภาษาไทยมีเพียง 3 เสียง คือมีแต่สระเอีย สระเอือ สระอัว ไม่นับสระเอียะ สระเอือะ สระอัวะ มีดังนี้

           2.1 คำในภาษาไทยจำนวนมาก บางคนอาจออกเป็นเสียงสระเอียะ สระเอือะ สระอัวะ ในขณะที่บางคนกลับออกเป็นเสียงสระเอีย สระเอือ สระอัว เช่นคำว่า เรียง บางคนอาจออกเป็นเสียงสระเอียะ บางคนอาจออกเป็นเสียงสระเอีย คำว่า เดือน บางคนอาจออกเป็นเสียงสระเอือะ บางคนอาจออกเป็นเสียงสระเอือ คำว่า ดวง บางคนอาจออกเป็นเสียงสระอัวะ แต่บางคนอาจออกเป็นเสียงสระอัว สุดแท้แต่จะออกโดยใช้เวลาสั้นๆ เป็นสระเสียงสั้น หรือออกโดยใช้เวลานานขึ้น เป็นสระเสียงยาว

           2.2 เมื่อพิจารณาคำที่มีตัวสะกดและอยู่ในชุดผันวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โท ประกอบด้วย จะเห็นได้ชัดว่า แม้ว่าจะเขียนด้วยรูป เ -ี ย, เ -ื อ, -ั ว แต่บางคำก็ออกเสียงสระเป็นเสียงสั้นกว่าสระอื่นๆ ในชุดเดียวกัน คือออกเป็นเสียงสระเอียะ สระเอือะ หรืออัวะ ปนอยู่กับสระเอีย สระเอือ สระอัว ไม่สามารถหาคำในชุดเดียวกันที่ออกเป็นเสียงสระเอียะ สระเอือะ สระอัว ทั้งหมดได้ เช่น
เลียง-เลี่ยง-เลี้ยง ออกเสียงคำว่า เลี่ยง เป็นเสียงสั้น คือเสียงสระเอียะ ทั้งๆ ที่ใช้รูปเหมือนสระเอีย ในขณะที่ เลียง กับ เลี้ยง ออกเป็นเสียงสระเอีย ซึ่งเป็นสระเสียงยาว
เรือง-เรื่อง-เรื้อง ออกเสียงคำว่า เรื่อง เป็นเสียงสั้น คือเสียงสระเอือะ ทั้งๆ ที่ใช้รูปเหมือนสระเอือ ในขณะที่ เรือง กับ เรื้อง ออกเป็นเสียงสระเอือ ซึ่งเป็นสระเสียงยาว
หวง-ห่วง-ห้วง ออกเสียงคำว่า ห่วง เป็นเสียงสั้น คือเสียงสระอัวะ ทั้งๆ ที่ใช้รูปเหมือนสระอัว ในขณะที่ หวง กับ ห้วง ออกเป็นเสียงสระอัว ซึ่งเป็นสระเสียงยาว
         2.3 เป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ในภาษาไทยไม่มีคำแม้แต่คำเดียวที่ใช้สระเอือะโดยไม่มีตัวสะกด ส่วนคำที่ใช้สระเอียะและสระอัวะโดยไม่มีตัวสะกด พบจำกัดอยู่เพียงคำไม่กี่คำ คำที่พบล้วนแต่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่าถ้าไม่เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋วก็จะเป็นคำเลียนเสียงเท่านั้น ตามปรกติทั้งคำยืมและคำเลียนเสียงต่างก็เป็นคำที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่างกับคำอื่นๆ ในระบบใหญ่ของภาษาซึ่งเป็นไปตามลักษณะทั่วไปและอธิบายได้ด้วยกฎทั่วไป เมื่อสรุปเป็นกฎทั่วไป จึงสรุปว่าภาษาไทยไม่มีเสียงสระเอียะ สระเอือะ และสระ อัวะ มีเพียงสระเอีย สระเอือ สระอัวเท่านั้น ถือว่า สระเอียะกับสระเอียเป็นเสียงเดียวกัน สระเอือะกับสระเอือเป็นเสียงเดียวกัน และสระอัวะกับสระอัวก็เป็นเสียงเดียวกัน ทางวิชาการถือว่า สระเอียะเป็นเสียงแปรของสระเอีย สระเอือะเป็นเสียงแปรของสระเอือ สระอัวะเป็นเสียงแปรของสระอัว
        3) ประเด็นสระ -า, ไ-, ใ-, เ-า
-า, ไ-, ใ-, เ-า นั้นเป็นเพียงรูปสระ ไม่ใช่เสียงสระ ไม่นับเข้าเป็นเสียงสระหรือหน่วยเสียงสระในภาษาไทยย่อมเป็นเรื่องถูกต้อง ที่กล่าวว่า -า, ไ-, ใ-, เ-า ไม่ใช่เสียงสระในภาษาไทย ทุกคนสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่า

ก. คำที่ใช้รูป -า โดยทั่วไปออกเสียงเหมือนคำที่เขียนด้วยรูป -ัม คือเป็นเสียงสระอะ มีเสียง ม สะกด เช่น กำ-กัมมะ, รำ-รัมภา, สำ-สัมมนา แต่บางกรณีออกเสียงสระอา มีเสียง ม ม้าสะกดได้ เช่น น้ำ ออกเสียงเหมือน น้าม

ข. คำที่ใช้รูป ไ- และ ใ- โดยทั่วไปออกเสียงเหมือนคำที่เขียนด้วยรูป -ัย คือเป็นเสียงสระอะ มีเสียง ย สะกด เช่น ไช-ชัย, ไอ-อัยกา, ไห-ให้-หัย[1] แต่บางกรณีออกเสียงสระอา มีเสียง ย สะกดได้ เช่น ไหว้ ออกเสียงเหมือน ว่าย

ค. คำที่ใช้รูป เ-า โดยทั่วไปออกเป็นเสียงสระอะ มีเสียง ว สะกด เช่น เทา เกา เจ่า แต่บางกรณีออกเสียงเหมือนคำที่เขียนด้วยรูป -าว คือเป็นสระอา มีเสียง ว สะกดได้ เช่น เท้า ออกเสียงเหมือน ท้าว, เก้า ออกเสียงเหมือน เก้า, เจ้า ออกเสียงเหมือน จ้าว

สรุปว่า -า, ไ-, ใ-, เ-า เป็นเพียงรูปสระ ไม่ใช่เสียงสระนับว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ตำราหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสารก็กล่าวว่า เสียงแท้จริงของสระ -า, ไ-, ใ-, เ-า เป็นเสียงสระอะ

4) ประเด็นภาษาศาสตร์กับหลักภาษา
ภาษาศาสตร์คือศาสตร์แห่งการเรียนรู้ภาษา เป็นศาสตร์ที่สังเกตและศึกษาปรากฏการณ์ของภาษาแล้วอธิบายตามปรากฏการณ์จริงที่สังเกตได้ วิธีการศึกษาจึงเป็นวิธีการเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วิธีศึกษาภาษาแบบเดียวกันนี้เจริญขึ้นในอินเดียโบราณก่อนชาติตะวันตก และตะวันตกก็ได้อิทธิพลมาและนำมาพัฒนาต่อจนแพร่หลาย ตำราภาษาไทยโบราณบางเล่มก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการทางภาษาศาสตร์อยู่ไม่น้อยแม้จะเขียนขึ้นในขณะที่วิชาภาษาศาสตร์ยังไม่เจริญหรือยังไม่แพร่หลายก็ตาม เช่น ตำราจินดามณีฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตำราหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร

หนังสืออุเทศภาษาไทย ชุดบรรทัดฐานภาษาไทย เป็นหนังสือที่หน่วยงานที่จัดทำหวังให้เป็นหนังสืออ้างอิงและขยายพรมแดนความรู้ของครูภาษาไทย คณะผู้จัดทำหนังสือประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสาขาภาษาไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย ศาตราจารย์กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน ราชบัณฑิตและอดีตประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ เมธีวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงอื่นอีกหลายท่าน ทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เนื้อหาในหนังสืออุเทศภาษาไทยชุดบรรทัดฐานภาษาไทยนั้น หลายหัวข้อผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ได้ถกเถียงและอภิปรายกันเป็นเวลานานจนได้ข้อสรุปร่วม ได้ร่าง ปรับ และแก้ไขและขัดเกลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้เนื้อหาที่ถูกต้อง สอดคล้องกับลักษณะและธรรมชาติที่แท้จริงของภาษาไทย และไม่ให้ยากเกินกว่าที่ครูจะศึกษาด้วยตนเอง
ลักษณะและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาษาไทยที่อธิบายไว้ในหนังสืออุเทศภาษาไทย ล้วนแต่อธิบายภาษาไทย “ตามที่เป็นจริง” ด้วยกรอบความคิดที่ชัดเจน เป็นเหตุเป็นผล หลีกเลี่ยงการกำหนดหลักเกณฑ์ของภาษาไทยขึ้นตามอำเภอใจ และกำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

การนับสระเอือะ เป็นเสียงสระของภาษาไทย ทั้งๆ ไม่พบว่ามีคำใดในภาษาไทยใช้สระเสียงนี้ หรือนับว่า -า, ไ-, ใ-, เ-า เป็นเสียงสระต่างหาก 4 เสียง ทั้งๆ ที่คำทั้งหมดที่ใช้รูปสระ -า, ไ-, ใ-, เ-า จะออกเป็นเสียงสระอะ หรือบางกรณีเป็นเสียงสระอา จัดว่าเป็นการอธิบายลักษณะของภาษาไทยที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของภาษาไทย

การอธิบายภาษาไทยด้วยกรอบความคิดที่เป็นระบบและคำนึงถึงลักษณะที่แท้จริงของภาษาไทยให้มากที่สุด จึงไม่ใช่การจับทฤษฎีของตะวันตกเข้ามาใส่ในภาษาไทยอย่างโดยไม่พิจารณาด้วยแต่อย่างใด


อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย
กรรมการผู้เรียบเรียงและกรรมการบรรณาธิการหนังสืออุเทศภาษาไทย

No comments:

Post a Comment