Tuesday, November 17, 2009

บทที่ 3 การอ่าน




หลักการอ่าน

เรื่อง หลักการอ่านออกเสียงร้อยกรอง
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรองโดยทั่วๆ ไป ควรปฏิบัติดังนี้
1. อ่านให้ถูกจังหวะ ออกเสียงอักขระให้ชัดเจน เช่น การอ่านอักษรนำ อ่านคำที่มี รร (ร หัน)
2. อ่านให้มีจังหวะลีลาตามเนื้อความ อาจเป็นจังหวะเนิบช้า อ่อนโยน หรือคึกคัก สนุกสนาน
หรือกระชั้นกระชาก
3. แบ่งวรรคตอนให้ถูกต้องตามลักษณะคำประพันธ์
4. ควรอ่านในใจสักครั้งหนึ่งก่อน เพื่อให้ทราบเรื่องราวโดยตลอดเรื่อง
5. อ่านออกเสียงแบบธรรมดา โดยแบ่งวรรคตอน คำยากให้ถูกต้อง การอ่านบทเสภาควรแบ่งวรรคตอนการอ่าน ดังนี้

เจ้าพลายงาม / ความแสน / สงสารแม่ ชำเลืองแล / ดูหน้า / น้ำตาไหล
แล้วกราบกราน / มารดา / ด้วยอาลัย ลูกเติบใหญ่ / คงจะมา / หาแม่คุณ
แต่ครั้งนี้ / มีกรรม / จะจำจาก ต้องพลัดพราก / แม่ไป / เพราะอ้ายขุน
เที่ยวหาพ่อ / ขอให้ปะ / เดชะบุญ ไม่ลืมคุณ / มารดา / จะมาเยือน
แม่รักลูก / ลูกก็รู้ / อยู่ว่ารัก คนอื่นสัก / หมื่นแสน / ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอน / วอนว่า / เมตตาเตือน จะจากเรือน / ร้างแม่ / ไปแต่ตัว


6. อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนา ซึ่งมีการอ่านเหมือนการอ่านกลอนสุภาพ บทที่หนึ่งเสียงสูง บทที่สองเสียงต่ำ
7. อ่านแบบขับเสภา มีวิธีการเอื้อนขึ้นต้นบท 3 แบบหลัก ได้แก่
7.1 เอื้อนยาว ...เอ่อ...เอ๊อ...เออ...(ครั่นเสียงลงต่ำ)...เออ...เอิง...เอย(ท้ายเสียงขึ้นจมูก) ใช้สำหรับบทคร่ำครวญ พรรณนา
7.2 เอื้อนปานกลาง ...เอ๊ย...เยอ...(ครั่นเสียงต่ำ)...เอ่อ...เอ๊อ...เอิง...เอย(ท้ายเสียงขึ้นจมูก) ใช้สำหรับบทบรรยายความทั่วๆ ไป บทต่อเนื่องที่เปลี่ยนตัวละครเป็นอีกตัวหนึ่งหรือเปลี่ยนฉากเปลี่ยนตอน
7.3 เอื้อนสั้น ...เอ๊ย...(ท้ายเสียงขึ้นจมูก) ใช้บรรยายความรุกเร้าหรือแสดงอารมณ์โกรธ
อีกแบบหนึ่งไม่ใช้การเอื้อน แต่ใช้ขับขึ้นคำแรกของบทได้เลย ลักษณะแบบนี้จะใช้ในการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ตอบโต้กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน


คุณลักษณะในการอ่านบทร้อยกรอง
1. ยืนในท่าตรง
2. มือซ้ายจับคร่อมไว้ตรงสันหนังสือ มือขวาจับมุมบทนของหนังสือ เพื่อเตรียมเปิดหน้าต่อไป
3. ไม่ใช้นิ้วหรืออุปกรณ์ชี้ตัวหนังสือ
4. เคลื่อนสายตาตามแนวขวางให้รวดเร็ว
5. เงยหน้ามองผู้ฟังบ้างเป็นระยะๆ


เรื่อง การอ่านวิเคราะห์
การอ่านวิเคราะห์ หมายถึง การอ่านหนังสือแต่ละเล่ม แต่ละเรื่องอย่างละเอียดแล้วพิจารณาแยกแยะส่วนประกอบต่างๆ ของหนังสือหรือเรื่องนั้นๆ ว่ามีความหมายและความสำคัญอย่างไร
หลักการอ่านวิเคราะห์
๑. อ่านหนังสือให้ตลอดเล่มหรือจบเรื่อง
๒. พิจารณารูปแบบของงงานประพันธ์ว่าเป็นแบบใด เช่น นวนิยาย บทละคร เรื่องสั้น บทความ หรือบทร้อยกรอง
๓. แยกแยะส่วนประกอบของเรื่องได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่
๔. จุดประสงค์ของผู้แต่งว่ามีจุดประสงค์ใด เช่น ต้องการสั่งสอน ขอร้อง
๕. วิเคราะห์คำ ประโยค หรือสำนวนภาษา ว่าถูกต้องเหมาะสมเพียงใด
๖. วิเคราะห์รส หมายถึง ความซาบซึ้งประทับใจที่ได้จากการอ่าน ในเรื่องของรสของเสียงและภาพ
๗. วิเคราะห์ในด้านความสมเหตุสมผลของเรื่อง ความน่าเชื่อถือ
๘. ผู้ที่จะวิเคราะห์เรื่องที่อ่านได้ดี ควรมีคุณลักษณะในการอ่านที่ดีด้วย คือ ต้องอ่านหนังสือเป็นประโยค ไม่อ่านทีละคำ อ่านได้เร็วตามหลักการอ่านหนังสือเร็ว

No comments:

Post a Comment