Wednesday, January 8, 2025

การฟังอย่างตั้งใจ

 ขั้นตอนการใช้ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ

     การฟังอย่างตั้งใจ เป็นทักษะที่จำเป็นทั้งสำหรับผู้ฟังและผู้พูด เพราะในฐานะผู้พูด เช่น ครู, ผู้ให้การฝึกอบรม, หรือโค้ช ก็จำเป็นต้องรับฟังผู้เรียนด้วยเช่นกัน เมื่อใดที่ผู้ฟังตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็น หรือตอบคำถามของผู้พูด เมื่อนั้นผู้พูดจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้ฟัง การฟังที่ปรากฏในขั้นตอนต่อไปนี้จึงเป็นการฟังของทั้งผู้ฟังและของผู้พูดเมื่อเปลี่ยนมาอยู่ในฐานะผู้ฟัง เช่น ขณะรับฟังคำถามหรือฟังคำตอบต่อคำถามที่ผู้พูดถามออกไป

1. ตั้งใจฟังและสังเกตอวจนภาษาทั้งหลาย (Pay attention)
     การฟังอย่างตั้งใจ ผู้ฟังจะต้องใช้สมาธิในการติดตามข้อมูลที่ผู้พูดสื่อสารออกมาทั้งคำพูดและการแสดงออก (fully presented) ตัดอารมณ์หรือสิ่งรบกวนใจออกไปให้มากที่สุดที่จะทำได้ นอกจากการตั้งใจฟังและสังเกตภาษากายของผู้พูดแล้ว ผู้ฟังยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คือ รักษาบรรยากาศให้ผู้พูดมีโอกาสคิดและพูด ไม่ตัดบทผู้พูดหรือตั้งคำถามขณะผู้พูดยังพูดไม่จบประโยค นอกจากนั้นยังควรระวังการใช้ภาษากายของตนเองที่บั่นทอนกำลังใจของผู้พูด เช่น โคลงศีรษะซึ่งเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วย หรือมองออกไปในทิศทางอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ซึ่งเป็นการแสดงความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือไม่สนใจฟัง

2. สงวนท่าทีการแสดงออก (Withhold judgement)
     การฟังอย่างตั้งใจจำเป็นต้องเปิดใจให้กว้าง เปิดรับความคิดใหม่และมุมมองใหม่ ๆ รวมไปถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของแนวคิดที่ผู้พูดนำเสนอ แม้ว่าจะมีความคิดเห็นต่างที่ค่อนข้างรุนแรงก็ควรยับยั้งการโต้แย้งและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ไม่ทะลุกลางปล้องซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือเป็นการด้อยค่าผู้พูด

3. ทวนสอบความเข้าใจเป็นระยะ (Reflect)
     ผู้พูดไม่ควรคิดว่าผู้ฟังมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดีแล้ว การที่ผู้ฟังจ้องตามาที่ผู้พูด ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังฟังอย่างตั้งใจอยู่เสมอไป ผู้พูดจึงควรตรวจสอบความคิดและความเข้าใจของผู้ฟังด้วยการทบทวนประเด็นสำคัญเป็นระยะ ๆ การป้อนคำถามหรือการกระตุ้นให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น เป็นเทคนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งของการฟังอย่างตั้งใจ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ฟังไม่ตกหล่นประเด็นสำคัญและกำลังสืบสานความเข้าใจไปพร้อมกับผู้พูด

4. ซักถามเพื่อความชัดเจน (Clarify)
     ผู้ฟังไม่ควรอายหรือเกรงใจที่จะตั้งคำถามหากสิ่งที่ผู้พูดมีความกำกวมหรือไม่ชัดเจน คำถามที่ใช้ควรเป็นคำถามปลายเปิดแบบ 5W 1 H (อะไร เมื่อไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร) เพื่อให้ผู้พูดได้อธิบายเนื้อหา ความเป็นมา และเหตุผลมาให้มากที่สุด การตั้งคำถามปลายปิด เช่น ใช่หรือไม่ อาจไม่พอที่จะให้มั่นใจได้ว่าทั้งผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจเรื่องนั้นเหมือน ๆ กัน

5. สรุปความเข้าใจ (Summarize)
     การที่ผู้พูดสรุปประเด็นที่ได้กล่าวไป หรือขอให้ผู้ฟังช่วยสรุปประเด็นสำคัญที่ผู้พูดได้พูดมา นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายว่ามีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวได้ถูกต้องตรงกันแล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของความรับผิดชอบที่ผู้พูดมีต่อผู้ฟังและผู้ฟังมีต่อตนเองในฐานะผู้เรียนอีกด้วย

6. แลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Share)
     ในการเรียนการสอนและการสนทนา ผู้พูดและผู้ฟังควรนำประสบการณ์ที่ตนได้ประสบหรือได้เคยเรียนรู้ มาถ่ายทอดให้อีกฝ่ายทราบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและง่ายต่อความเข้าใจซึ่งจะช่วยให้สามารถมองเห็นการแก้ไขหรือทางออกของปัญหาได้ดีกว่าการรับรู้แต่เพียงหลักการหรือทฤษฎีที่จับต้องไม่ได้

จะพัฒนาทักษะการฟังอย่างตั้งใจได้อย่างไร
     การพัฒนาทักษะการฟังอย่างตั้งใจ สามารถทำได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนเทคนิคต่อไปนี้
   1) ไม่ขัดจังหวะการพูดของผู้อื่นบ่อยเกินไป การไม่ขัดจังหวะนี้ นอกจากจะเป็นการไม่ตั้งคำถามปลีกย่อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญของเนื้อหาแล้ว ยังหมายถึงการไม่ใช้อุปกรณ์ที่อาจส่งเสียงรบกวนผู้พูด เช่น โทรศัพท์

     การไม่ขัดจังหวะการพูด จะช่วยให้ผู้ฟังมีสมาธิในการฟังได้อย่างตั้งใจมากขึ้น และยังมีเวลาสังเกตผู้ฟังคนอื่น ๆ (ถ้ามี) ว่าเขาเหล่านั้นมีคำถามอะไร ตรงกับสิ่งที่ตนสงสัยหรือไม่ คำถามเหล่านั้นตนรู้คำตอบหรือไม่

   2) ให้ความสนใจกับสิ่งที่ผู้อื่นพูดให้มากกว่าที่ตนตั้งใจจะพูด การฟังอย่างตั้งใจควรตั้งเป้าหมายให้สามารถกล่าวซ้ำข้อความประโยคสุดท้ายที่ผู้พูดเพิ่งกล่าวจบลงได้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีสมาธิอยู่กับทุกข้อความที่ผู้พูดได้กล่าวมา

   3) ยอมรับความเงียบ ผู้ฟังไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถามหรือมีความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา คำถามบางคำก็เป็นเพียงการกล่าวลอย ๆ เพื่อทบทวนประเด็นที่เพิ่งพูดจบลง ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะได้รับคำตอบทุกครั้งไป จังหวะการหยุดหรือเงียบไปของผู้พูด บ่อยครั้งทำเพื่อให้ผู้ฟังได้มีเวลาในการใช้ความคิดไตร่ตรองทบทวนหรือจดบันทึก การตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นทำลายความเงียบขึ้นมาจึงเป็นการทำลายโอกาสของตนเองและผู้ฟังคนอื่น ควรรอให้ผู้พูดเปิดโอกาสให้ถามหรือแสดงความคิดเห็น จึงค่อยนำประเด็นที่ติดค้างขึ้นมาถาม

   4) กระตุ้นให้อีกฝ่ายเสนอความคิดเห็นและทางแก้ไขปัญหาก่อนจะแสดงความคิดเห็นของตนเอง การขอความเห็นจากผู้พูดหรือผู้ฟังคนอื่นก่อนที่จะตั้งคำถามของตน จะช่วยให้เราได้มีโอกาสรับข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น และยังได้ทราบถึงมุมมองของผู้อื่นด้วยว่าเป็นอย่างไร

   5) ยกประเด็นสำคัญที่ตนได้รับฟัง ขึ้นมากล่าวซ้ำ เพื่อทบทวนความเข้าใจของตนเอง การยกประเด็นที่ว่านี้ ไม่ใช่การกล่าวซ้ำผู้พูดแบบคำต่อคำ แต่เป็นการเรียบเรียงจากความเข้าใจของตนเอง ด้วยถ้อยคำของตนเอง (paraphrasing) ซึ่งจะช่วยให้ผู้พูดสามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องหรือมีอะไรที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

   6) นัดหมายเพื่อหารือในประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน หากสิ่งที่ฟังมาขัดแย้งกับข้อมูลที่มีหรือที่เคยรับรู้มา ไม่ควรแสดงความคิดเห็นในลักษณะหักล้างกันต่อหน้า แต่ควรขอโอกาสพูดคุยหรือนำเสนอข้อมูลให้พิจารณาในภายหลังซึ่งอาจเป็นหลังการบรรยาย หรือขอ email, โทรศัพท์เพื่อการติดต่อ การหักล้างสิ่งที่ผู้พูดได้กล่าวมา นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังสร้างความสับสนแก่ผู้อื่นอีกด้วย

กิจกรรมวันนี้ ให้ฟัง podcast 

 https://podcasts.apple.com/th/podcast/5-minutes-good-time/id1483923575?i=1000531636496

แล้วตอบคำถาม ดังนี้ 

คำถามสำหรับวิเคราะห์

  1. Podcast นี้พูดถึงหัวข้ออะไร?

    • ให้นักศึกษาระบุหัวข้อหลักของ Podcast
  2. สรุป 3 ประเด็นสำคัญที่ได้จากการฟัง Podcast

    • เช่น "การฟังเชิงรุกช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี", "การฟังอย่างตั้งใจช่วยลดความขัดแย้ง"
  3. การวิเคราะห์ (Analysis):

    • การฟังเชิงรุกสำคัญอย่างไรในชีวิตประจำวัน?
    • คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นใน Podcast? เพราะอะไร?
  4. ยกตัวอย่างจากชีวิตประจำวัน:

    • ให้นักศึกษายกตัวอย่างสถานการณ์ที่เคยใช้ (หรือควรใช้) การฟังเชิงรุก เช่น การฟังเพื่อนในสถานการณ์เครียด หรือการฟังความคิดเห็นในที่ประชุม หรือที่มหาวิทยาลัย

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.