Wednesday, October 28, 2015

ตัวอย่างงาน และการบ้าน


               จากแบบฝึกหัดท้ายบทวรรณคดีหน้า 101  ชวนคิดชวนคุย ข้อที่ 1 -2  ที่ให้นักเรียนตอบคำถามเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องใด ที่มีคำสอนเหมือนกันกับ สุภาษิตสอนหญิง ดังนั้นครูเลยหาตัวอย่างมาให้ดูตามข้างล่างนี้  ส่วนความหมายของคำว่าวรรณคดี ได้สอนในห้องแล้ว ขอทบทวนดังนี้

              เช่นเดียวกันในข้อที่ 2 คำถามเกี่ยวกับวรรณกรรม ที่มีคำสอน นักเรียนก็สามารถหาได้จาก
งานเขียนในปัจจุบัน เช่นบทสอนในเรื่อง ทองเนื้อเก้า  หลวงตา ลูกอิสาน ความสุขของกระทิ

       วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี ส่วน การวิจักษ์ หมายถึง ที่รู้แจ้ง ที่เห็นแจ้ง ฉลาดมีสติปัญญา เชี่ยวชาญ ชำนาญ โดยรวม     การวิจักษ์วรรณคดี จึงหมายถึง การอ่านวรรณคดีโดยใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรอง กลั่นกรอง แยกแยะและแสวงหาเหตุผลเพื่อประเมินคุณค่าของวรรณคดีอย่างมีเหตุผล และพิจารณาได้ว่าหนังสือแต่ละเรื่องแต่งดีแต่งด้อยอย่างไร ใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาได้ไพเราะหรือลึกซึ้งเพียงใด ให้คุณค่า ความรู้ ข้อคิดและคติสอนใจหรือถ่ายทอดให้เห็นสภาพชีวิต ความคิด ความเชื่อขอคนในสังคมอย่างไร ส่วนการวิจารณ์วรรณคดีนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณคดีที่อ่าน แล้วสามารถบอกได้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ต้องมีเหตุผลประกอบ ยกตัวอย่างวรรณคดี ที่เป็นประเภทคำสอนก็มีดังนี้      วรรณคดีคำสอน มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปประพฤติปฏิบัติ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมทางศาสนา เช่น สุภาษิตพระร่วง โคลงโลกนิติ สุภาษิตสอนหญิง สวัสดิรักษาคำกลอน โคลงพาลีสอนน้อง จากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น


      นางกอดจูบลูบหลังแล้วสั่งสอน

อำนวยพรพลายน้อยละห้อยไห้

พ่อไปดีศรีสวัสดิ์กำจัดภัย

จนเติบใหญ่ยิ่งยวดได้บวชเรียน

ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ

เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

แล้วพาลูกออกมาข้างท่าเกวียน

จะจากเจียนใจขาดอนาถใจ

(ขุนช้างขุนแผน  ตอน  พลายงามพบพ่อ)


       สลึงพึงประจบให้ครบบาท

อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ 
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง

อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน 
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ

ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน 
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล

จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ  
ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ

ได้การุญเลี้ยงรักษามาจนใหญ่ 
อุ้มอุทรป้อนข้าวเป็นเท่าไร

หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง

          อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก 
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ    

(จากเพลงยาวถวายโอวาท  ของ สุนทรภู่)


      ความรักเหมือนโคถึก
กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดจากคอกไป
บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
          ถึงหากจะผูกไว้
ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง
บ่หวนคิดถึงเจ็บกาย”

             เป็นตอนที่ท้าวชัยเสนไปพบนางมัทนะพาธาในป่า แล้วต้องการเป็นชายา ฤษีกาละทรรศินซึ่งมีนางคนรับใช้จึงเตือนว่า  “ความรักมีได้แต่ต้องระวัง”

              ฤษีกาละทรรศินเปรียบความรักเหมือนโรคร้าย หากมีเข้าก็จะเปรียบเหมือนคนตาบอดหูหนวก ไม่ได้ยินได้เห็นอะไรทั้งสิ้น และก็เปรียบความรักเป็นโคหนุ่ม เพราะมีทั้งแรงและกำลัง จะกักขังไว้ก็ไม่ได้มันก็จะพยายามพุ่งออกไปจนลืมความเจ็บปวด  แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท อินทรวิเชียรฉันท์  ๑๑ 

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.